ด้านสาธารณสุข
โครงการวิจัยเรื่องนวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
โครงการวิจัยเรื่องนวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น โดยในปี 2563 มีจำนวนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 18.2 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก ประเทศไทยจึงจัดอยู่ในระดับสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มักมีปัญหาด้านสุขภาพตามความเสื่อมถอยของร่างกาย และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
อาหารสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อช่วยส่งเสริมและชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกาย ลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ลดภาระการดูแลสุขภาพจากการเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และลดภาระทางด้านสาธารณสุข การพัฒนานวัตกรรมอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) ในอนาคต
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2562 - 2563 ภายใต้งบประมาณ จำนวน 1,424,100 บาท เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่องนวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผลิตจากข้าวสีเข้มและสกัดด้วยวิธีเคมีสะอาด (Green chemistry) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้วัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเชิงประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ มีความปลอดภัยต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม การวิจัยในครั้งนี้ได้ออกแบบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้รับประทานง่ายตามสมรรถภาพการเคี้ยวและกลืนของผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่
1) เครื่องดื่มชงร้อนจากเมล็ดและใบข้าวสีดำ ข้าวสีม่วงดำ
2) เครื่องดื่มพร้อมชงชนิดผงผสมสารสกัดจากข้าวสีม่วงดำ รสเลมอนเนด
3) ข้าวต้มและโจ๊กข้าวกล้องงอกกึ่งสำเร็จรูป จากข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และมีสารสกัดจากข้าวสีม่วงดำเป็นส่วนผสมในเครื่องปรุง
4) ขนมบัวลอยสำหรับผู้สูงอายุที่มีสารสกัดจากข้าวสีม่วงดำผสมในเม็ดบัวลอย
ผลการดำเนินโครงการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์โดยได้สร้างนวัตกรรมอาหารด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ผลิตจากเมล็ด รำ และใบของข้าวพันธุ์สีเข้ม ที่เสริมสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredients) มีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สารสกัดจากข้าวสีเข้ม อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) โดยเฉพาะสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ที่มีสีม่วงเข้ม และจากการทดสอบทางด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากข้าวสีเข้ม ไม่มีความเป็นพิษและมีแนวโน้มที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพ โดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีและมีฤทธิ์ทางชีวภาพในการลดความเสี่ยงและป้องกันโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ อาทิ การลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) และลดภาวะการทำงานของไตที่ผิดปกติในหนูทดลองที่ได้รับอาหารไขมันสูง ฤทธิ์ในการป้องกันการตายของเซลล์ประสาทที่เพาะเลี้ยงในโมเดลของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งตับและลำไส้ในหนูทดลอง
โครงการวิจัยเรื่องนวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์และอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่าปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) ซึ่งผู้สูงอายุเป็นวัยที่มักมีปัญหาด้านสุขภาพตามความเสื่อมถอยของร่างกายและเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน การดูแลผู้สูงอายุด้วยอาหารเสริมสุขภาพทั้งก่อนวัยสูงอายุและเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อลดภาระการดูแลสุขภาพจากการเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และลดภาระทางด้านสาธารณสุข นวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโภชนาการเหมาะสมตามวัย มีคุณสมบัติเคี้ยวและกลืนได้ง่าย ตอบสองความต้องการทั้งด้านร่างกายและรสชาติ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค และลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ดำเนินงานร่วมกับภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2564-2565 ภายใต้งบประมาณ จำนวน 760,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จากข้าวอินทรีย์พันธุ์ไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้กรรมวิธีผลิตเครื่องดื่มเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจากการพัฒนากระบวนการหมักข้าวอินทรีย์พันธุ์ไทยในระยะเวลาและสภาวะที่เหมาะสมด้วยเชื้อราและยีสต์ที่ผ่านการคัดเลือกและทำให้บริสุทธิ์ ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่อุดมด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จากกระบวนการหมัก เสริมด้วยแป้งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยเอนไซม์ (Resistant starch) ที่มีสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotics)