โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ร่วมมือกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี (เริ่มปี 2562)
เป้าหมายโครงการ
“ขับเคลื่อนการขยายพันธุ์ และขยายพื้นที่วัวแดงจากพื้นที่ป่าสลักพระสู่พื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง” เพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน) ที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ในอนาคต โดยดำเนินงานด้านการวิจัย การอนุรักษ์ และขยายพันธุ์วัวแดง พร้อมดำเนินกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการทำงานกับชุมชน สถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดแนวเขตการขยายพื้นที่ในชื่อ “กลุ่มมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง”
ความสําคัญของโครงการ
“วัวแดง” เป็นสัตว์ที่มีรายชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 การอนุรักษ์วัวแดง จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ป่า ผืนป่าและชุมชน “เพราะเมื่อวัวแดงอยู่รอด ผืนป่าก็อยู่รอดและชุมชนรอบพื้นป่าก็อยู่รอดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน” โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง จึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การสูญหายของวัวแดงในพื้นที่ป่าสลักพระ เมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์วัวแดง และเมื่อปี พ.ศ. 2517 การค้นพบวัวแดงเพศเมียบริเวณโป่งกลางป่าสลักพระ จนเกิดเป็น “เจ้าโป่งทอง” วัวแดงตัวแรก นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในการสร้างแรงผลักดันการอนุรักษ์วัวแดงให้กลับคืนสู่ป่าสลักพระอีกครั้ง และเป็นตัวชี้วัดว่า แนวคิดการอนุรักษ์วัวแดงสามารถปลุกจิตสำนึกของคนในชุมชนที่อยู่รอบแนวเขตป่าสลักพระได้เป็นอย่างดี
โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
เปิดทางให้วัวแดงก้าวเดิน
โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง
โครงการ Goal Together
และโครงการ U Volunteer
หากพูดถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์คงมีน้อยคนที่จะนึกถึงวัวแดงสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างปราดเปรียวสง่างาม ขนสีน้ำตาลแดงเงาสลวย และมีจุดเด่นที่เขาโค้งสวยล่อตาล่อใจ ว่ากันว่าในอดีตพื้นที่่ป่าสลักพระและผืนป่าในจังหวัดกาญจนบุรีมีวัวแดงอยู่เยอะมาก ชนิดที่เดินพบเห็นได้ทั่วไป แต่เมื่อมีผู้ล่ามากขึ้นอาณาเขตของเมืองขยายตัวไปถึงแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของวัวแดง ประชากรวัวแดงจึงลดลงอย่างน่าใจหาย
ปัจจุบันมีวัวแดงสายพันธุ์ แท้เหลืออยู่ บนโลกไม่ถึง 500 ตัว วัวแดงจึงถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง และยังจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซี เอ็น (IUCN Red List) ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)ขณะที่ในทางกฎหมายของประเทศไทย วัวแดงถูกจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลำดับที่่ 180 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
การดําเนินงานโครงการ ในปี 2564 การดำเนินโครงการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานโครงการ จึงสามารถดำเนินงานได้ในบางกิจกรรม คือ การสนับสนุนทุนโครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง โดยมอบเงินสนับสนุน จำนวน 1,500,000 บาท ในการดำเนินงานกิจกรรม ดังนี้
1.1 ดำเนินงานวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันของวัวแดง) ภายใต้โครงการผลิตตัวอ่อนวัวแดงในห้องปฏิบัติการ โดยได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) เพื่อการศึกษา วิจัย ควบคู่กับการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยในปี 2564 ได้เก็บตัวอย่างน้ำเชื้อวัวแดงตัวผู้ที่ตายแล้ว นำไปเก็บในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และทำการผสมกับวัวบ้านเพื่อทดสอบความแข็งแรงของน้ำเชื้อและเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อไป โดยในปี 2565 ได้วางแผนเก็บน้ำเชื้อ และเนื้อเยื่อของวัวแดงที่เตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งที่ 5 เพื่อเข้าสู่กระบวนการวิจัยในห้องปฏิบัติการระยะต่อไป
1.2 ดำเนินการติดตั้งกล้อง Camera Trap เพื่อศึกษาพฤติกรรมของวัวแดง ในพื้นที่ป่าสลักพระ โดยในปี 2564 ได้สนับสนุนกล้อง Camera Trap จำนวน 20 ตัว รวมที่ติดตั้งไปแล้วทั้งหมด 30 ตัว (2563-2564) และมีแผนการติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่แนวเขตอนุรักษ์ จำนวน 150 ตัวในปี 2566 ข้อมูลจากกล้อง Camera Trap และจากเครื่อง GPS ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า การปล่อยวัวแดง 4 ครั้ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 13 ตัว พบลูกวัวแดงที่เกิดตามธรรมชาติ จำนวนอีกกว่า 18 ตัว รวมวัวแดงที่มีในเขตพื้นที่ป่าสลักพระทั้งสิ้น จำนวนกว่า 31 ตัว ภาพจากกล้อง Camera Trap ยังทำให้เห็นพฤติกรรมการหาอาหาร แหล่งอาหาร และความแข็งแรงของวัวแดง นอกจากนี้ ยังได้เห็นภาพฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น กวาง เสือโคร่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และได้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารและโภชนาการที่ส่งผลต่อสุขภาพวัวแดงต่อไป
1.3 สร้าง และปรับปรุงคอกวัวแดงให้มีความคงทนเพื่อป้องกันการทำลายของช้างป่า โดยได้ปรับปรุงคอกวัวแดง จำนวน 2 คอก คือ (1) คอกสำหรับปรับพฤติกรรมวัวแดงก่อนการปล่อยคืนธรรมชาติ (สำหรับปล่อยวัวแดง ครั้งที่ 5 ในปี 2565) ซึ่งเป็นคอกที่มีผ้าสแลนปิดทึบบริเวณรอบพื้นที่คอก เพื่อให้วัวแดงเกิดการคุ้นชินเพราะในกระบวนการขนย้าย วัวแดงต้องอยู่ในกล่องที่มีความทึบ คอกนี้จึงต้องจำลองสภาพคอกให้เหมือนกล่องขนย้ายมากที่สุด และติดตั้งกล้องเพื่อศึกษาพฤติกรรมวัวแดง และ (2) คอกในพื้นที่เตรียมปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่า โดยได้ดำเนินการสร้างคอกไว้เพื่อปรับสภาพและพฤติกรรมวัวแดงให้มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติในป่าก่อนปล่อยจริง โดยในปี 2565 ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ มีแผนการปล่อยวัวแดงสู่ป่า ครั้งที่ 5 จำนวน 3 ตัว คือ วัวแดงเพศผู้ 2 ตัว (คุ้มครอง วันสุข) และเพศเมียที่กำลังตั้งท้อง 1 ตัว (น้ำฝน)
1.4 ดำเนินโครงการวิจัยวัวแดงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ร่วมกับคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บมูลของวัวแดงที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสลักพระ นำไปวิจัยในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) เพื่อตรวจสอบโภชนาการอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพและพฤติกรรมการกินอาหารของวัวแดง รวมถึงนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่แผนการเพิ่มแหล่งอาหารที่เพียงพอ และมีโภชนาการเหมาะสม
ผลจากการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ทำให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ได้ทราบถึงพฤติกรรมการกินอาหาร และสุขภาพวัวแดง และสัตว์ป่าอื่นๆ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จึงได้นำข้อมูลมาพัฒนากิจกรรม ภายใต้โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง เช่น การปลูกมะม่วงป่า การทำโป่งเทียม เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มีทั้งสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์ป่าให้ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ ซึ่งในปี 2565 มีการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อวิเคราะห์เก็บข้อมูล และพัฒนากิจกรรม ที่ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์วัวแดง และสร้างความอุดมสมบูรณ์ในนิเวศป่าสลักพระต่อไป
คลิก : เกร็ดความรู้ “ โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง ”
การดําเนินงานโครงการ ดำเนินงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) ในการปรับปรุงสายพันธุ์วัวแดงเพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน) ควบคู่กับการทำงานด้านชุมชน ปัจจุบันได้ปล่อยวัวแดงไปแล้ว 4 ครั้ง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ตัว ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ลูกวัวแดงที่เกิดตามธรรมชาติมีจำนวนกว่า 18 ตัว (ข้อมูลจาก GPS และกล้อง Camera Trap) โดยในปี 2564 จะมีการปล่อยวัวแดง เป็นครั้งที่ 5 อีกจำนวน 3 ตัว
นำอาสาสมัครร่วมกับชุมชนลงแรงและเรียนรู้งานด้านการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง (ปี 2562 - 2563) กับกิจกรรม “คืนวัวแดงสู่ผืนป่า เรียนรู้คุณค่าความสมดุล” ทำคอกเตรียมความพร้อมปล่อยวัวแดงสู่ป่า ครั้งที่ 3 ปี 2562 และกิจกรรม “ปลูกพืชอาหารช้าง สร้างอาหารให้สัตว์ป่า” เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าในปี 2563
จากการดำเนินงานในปีที่ 1 กิจกรรม “คืนวัวแดงสู่ผืนป่า เรียนรู้คุณค่าความสมดุล” ได้จัดทำคอกเตรียมความพร้อมปล่อยวัวแดงสู่ป่า และได้ใช้ในการปล่อยวัวแดงครั้งที่ 4 เดือนธันวาคม 2563 และในปีที่ 2 กิจกรรม “ปลูกพืชอาหารช้าง สร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า” ได้ปลูกมะม่วงป่า จำนวน 2,500 ต้น และเพาะพันธุ์ต้นมะม่วงป่า จำนวน 10,000 ต้น เพื่อเป็นอาหารสัตว์ในพื้นที่ป่าสลักพระ โดยทั้ง 2 ปีมีอาสาสมัคร Goal Together ชุมชน (มวลชนจิตอาสา) และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมทำกิจกรรมกว่า 200 คน
Q : จากที่มีมวลชนสนใจร่วมขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์วัวแดง มีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างไรA : งานทุกงานไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ ต้องมีทีมงานที่ร่วมอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณของนักอนุรักษ์เหมือนกัน หากเราสร้างความเชื่อ ลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มวลชนก็ตามมาเอง การจุดประกายมวลชนที่นี่ คือ การสร้างรูปธรรมความสำเร็จ “ทำ บอกต่อ ตอกย้ำความสำเร็จ” ทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสร้างจิตสำนึกในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ไม่ใช่การเกณฑ์คนมาทำงานประชาสัมพันธ์แล้วจบ แบบนั้นไม่ใช่งานพัฒนา หรืองานอนุรักษ์
Q : วางแผนงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์วัวแดงในอนาคตอย่างไรบ้าง
A : แนวทางและเป้าหมายหลักในการทำต่อไป คือ การขยายพันธุ์วัวแดงให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คือ ไม่มีความรู้ก็ต้องหาตัวช่วย เช่น ทำงานด้านวิชาการร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) เรื่องการวิจัยวัวแดง ในขณะเดียวกันก็ผลักดันงานด้านมวลชนไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์วัวแดงต่อไปด้วย เราพยายามเชื่อมเส้นทางการเดินของวัวแดง จากป่าสลักพระสู่ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อแก้ไขปัญหาเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน) และต้องขอขอบคุณทาง มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่เข้ามาสนับสนุน และเป็นฟันเฟืองในการทำงาน ทำให้โครงการเริ่มเป็นรูปธรรมขยายวงกว้างออกไปสู่สายตาประชาชน และเป็นการช่วยให้น้องวัวแดงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต