โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล
บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
มุ่งอนุรักษ์และ ใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ท้องทะเลและมหาสมุทรถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ซึ่งมีขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 70 ของโลกเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งพลังงานทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว ให้ผู้คนในประเทศที่มีอาณาเขตติดพื้นที่ชายฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากผืนน้ำท่ามกลางประโยชน์มหาศาลของท้องทะเลและมหาสมุทร ย่อมตามมาด้วยปัญหาและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า กว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้ชีวิตพึ่งพาทะเลและความหลากหลาย
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (เริ่มปี 2562) กับโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู หญ้าทะเล ฟื้นฟู ความหลากหลายของนิเวศ บ้านของสัตว์ใต้ท้องทะเล เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลของไทยกลับมามี ความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อดีทรัพยากรที่หลากหลาย
เป้าหมายโครงการ
“ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และขยายพื้นที่หญ้าทะเล จำนวน 50 ไร่ บริเวณหาดคลองสน (เกาะผี)” โดยดำเนินงานด้านการวิจัยการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล พร้อมดำเนินกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน สถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดแนวเขตพื้นที่ดำเนินการ
ความสําคัญของโครงการ
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ได้สร้างทั้งคุณและโทษต่อสิ่งแวดล้อม หากการใช้ทรัพยากรขาดการทำทดแทนดูแลรักษา จะส่งผลกระทบต่อนิเวศทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเลจึงเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในการสร้างความหลากหลายและคืนความสมบูรณ์ให้กับนิเวศทางทะเล อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกิจกรรมเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล อันจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล
บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
ปลูกบ้านให้สัตว์ทะเลกลับมา
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล
โครงการ Goal Together
และโครงการ U Volunteer
หญ้าทะเลเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในท้องทะเลที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบนิเวศชายฝั่งอื่นๆ เช่น ป่าชายเลน และแนวปะการังเข้าไว้ด้วยกัน และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งแหล่งหลบภัยวางไข่ฟักตัว และอนุบาลสัตว์น้ำน้อยใหญ่นานาเป็นที่ยึดเกาะของพืชบางชนิด ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหายากใกล้ สูญพันธุ์อย่าง พะยูน เต่าทะเล และโลมา รากและเหง้าของหญ้าทะเลยังช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำและคลื่น ชะลอการพังทลายของชายฝั่ง
อย่างไรก็ดีสถานการณ์ของหญ้าทะเลไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมจนอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์บนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งน้ำเสียจากชุมชนการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ การสร้างเขื่อนกันคลื่นไปจนถึงการเลือกใช้เครื่องมือประมงอย่างอวนลากหรืออวนรุนที่ทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลอย่างรุนแรง
จังหวัดตรัง ถือเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชัง บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จึงไม่นิ่งนอนใจถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ รวมตัวกันขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และขยายพื้นที่หญ้าทะเล หาวิธีฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยการเพาะขยายพันธุ์ต้นกล้าแล้วนำมาปลูกคืนให้ชายฝั่ง จนแหล่งหญ้าทะเลที่บ้านพรุจูดกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา คือองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงสนับสนุนเงินทุนให้วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ในการทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เยาวชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักท่องเที่ยว ในการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเล 50 ไร่ ในพื้นที่หาดคลองสน (เกาะผี) บ้านพรุจูด พร้อมสร้างความร่วมมือในด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตตรัง) ผ่านโครงการ U Volunteer ในการวิจัยหญ้าทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่ และผลการเปลี่ยนแปลงของนิเวศทางทะเล เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลและก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตประมงชายฝั่งของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
หญ้าทะเลในน่านน้ำไทย
พบหญ้าทะเล 13 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล (Enhalus acorides) หญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium) หญ้ากุยช่ายทะเล (Syringodiumisoetifolium) หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia) หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima) หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata) หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) หญ้าเงา (Halophila ovalis) หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor) หญ้าเงาใบใหญ่่ (Halophila major) หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii) จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 60 ชนิด พันธุ์ที่พบทั่วโลก โดยในฝั่งทะเลอันดามันพบหญ้าทะเล 12 ชนิด ขาดเพียงหญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppiamaritima) ซึ่งพบเฉพาะฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่วนฝั่งอ่าวไทยก็พบหญ้าทั้งสิ้น 12 ชนิดเช่นกัน ขาดเพียงหญ้าเงาใบใหญ่่ (Halophila major) ซึ่งพบเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฮาวทูฟื้นฟู ‘โคลนตม’
ให้กลับคืนเป็นดง ‘หญ้าทะเล’
1. เพาะต้นกล้าเองจากเมล็ดหญ้าทะเล
ใช้วิธีเพาะเมล็ดในถังน้ำทรงสี่เหลี่ยมที่ต้องให้ออกซิเจนและควบคุมอุณหภูมิความเค็ม ปริมาณแสงให้เหมือนในทะเลมากที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะสามารถนำต้นกล้าไปปลูกได้ พ.ศ. 2553 บรรจงและทีมลองเอาต้นกล้าไปปลูกที่อ่าวบุญคงแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมและสูญหายไป เมื่อผลลัพธ์มีอัตรารอดที่ค่อนข้างดีจึงปลูกและฟื้นฟู ต่อมาเรื่อย ๆ ใน พ.ศ. 2554-2558 จนสามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลกลับคืนมาได้ร้อยละ 70 เริ่มมีร่องรอยของพะยูนมากินหญ้าทะเลและมีลูกปลามาอาศัยมากขึ้น
2. ลุยต่อที่หาดคลองสน แล้วต่อยอดสู่ ‘กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ’
ใน พ.ศ. 2559 บรรจงและทีมยกองค์ความรู้ไปใช้ฟื้นฟูต่อที่หาดคลองสน (หน้าเกาะผี) ซึ่งมีความท้าทายเพราะเป็นทะเลเปิดพื้นที่กว้างตะกอนดินฟื้นฟูได้ช้ากว่า โดยในครั้งนั้นได้นำต้นกล้าไปลองเพาะปลูก 2,000 ต้น จากนั้นก็มีอาสาสมัครไปช่วยลงแรงอีก 6,000 ต้น จนสุดท้ายแหล่งหญ้าทะเลกลับมาได้จนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10-20 ไร่ รวมทั้งเริ่มมีเครือข่ายในจังหวัดอื่นที่สนใจโมเดลนี้ เดินทางมาศึกษาวิธีเพาะและมาขอต้นกล้าไปโดยตรง บรรจงและทีมใส่การอนุรักษ์ไปในการท่องเที่ยวเชิงชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งมาก็เก็บต้นหญ้ามาให้ชุมชนเพาะอีกกลุ่มหนึ่งมาก็เอาต้นกล้าไปปลูกเกิดเป็นโมเดลการท่องเที่ยวแบบจิตอาสา และเริ่มมี หน่วยงานสนใจและสนับสนุนกิจกรรมนี้ในจังหวัดตรังมากขึ้นเรื่อย ๆ
3. หญ้าทะเลและชุมชน กลับมามีชีวิตได้ก็เพราะ ‘ความร่วมมือ’
มูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ คือหนึ่งในหน่วยงานที่สนใจเรื่องความยั่งยืนของชุมชน เมื่อเห็นว่าบรรจงและทีมทำงานอนุรักษ์มากว่า 10 ปี จึงเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วยการนำอาสาสมัครจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มาเรียนรู้ลงแรงฟื้นฟูหญ้าทะเลร่วมกับชุมชนและเยาวชนผ่านกิจกรรมโครงการ Goal Together และยังช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ชุมชนทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ไปด้วยเพราะการฟื้นฟูไม่สามารถทำด้วยคนใดคนหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งแต่ต้องการความร่วมมือของคนหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งชุมชน จึงต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนอยู่สม่ำเสมอ
การดําเนินโครงการ
การดำเนินงานโครงการในปี 2564 มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา มอบเงินสนับสนุนจำนวน 350,000 บาท เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยดำเนินงานโครงการ คือ
3.1 การเพาะและขยายพันธุ์หญ้าทะเล
วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ได้ดำเนินการเพาะและขยายพันธุ์หญ้าทะเล และร่วมกับชุมชนในพื้นที่หน่วยงานสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง จัดกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเล จำนวน 8,000 ต้น (ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 ต้น และครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 ต้น) บริเวณอ่าวบุญคง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
และได้เก็บเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลอีกประมาณ 7,000 เมล็ด เพื่อมาทดแทนหญ้าทะเลที่ นำไปปลูกแล้ว อีกทั้ง ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในการปลูกหญ้าทะเล จำนวน 3 ไร่ ในพื้นที่เกาะผี บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและวิจัยหญ้าทะเล โดยในปี 2564 มีการปลูกหญ้าทะเลไปแล้วรวม 5 ไร่ และมีแผนการปลูกหญ้าทะเลเพิ่มอีกจำนวน 10 ไร่ ในปี 2565 ต่อไป
หญ้าทะเล คือ อะไร?
หญ้าทะเล เป็นทรัพยากรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญมาก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำ เศรษฐกิจ ได้แก่ กุ้ง หอย ปู และปลา นอกจากนั้น หญ้าทะเลยังเป็นอาหารสำคัญของพะยูนและเต่าทะเล เป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่สำคัญของชุมชนชายฝั่งทะเล
หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และเกิดตามธรรมชาติ ชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น แหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลนจึงเสมือนเป็นประตูกั้นระหว่างกิจกรรมต่างๆ บนฝั่งกับทะเล
ในประเทศไทยพบหญ้าทะเลได้ในหลายพื้นที่ เช่น แหล่งน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำที่ติดป่าชายเลน ชายฝั่งน้ำตื้นที่มีพื้นทรายหรือทรายปนโคลน และที่ลึกติดกับแนวปะการัง สภาพแหล่งหญ้าทะเลโดยทั่วไปทางฝั่งทะเลอันดามันมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าทางฝั่งอ่าวไทย ฝั่งทะเลอันดามันพบหญ้าทะเลในพื้นที่ชายทะเลและเกาะต่างๆ ทุกจังหวัด ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 60,000 ไร่ โดยแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในน่านน้ำไทยคือ จังหวัดตรัง บริเวณเกาะลิบง ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง และมีพื้นที่อนุรักษ์และเพาะพันธุ์หญ้าทะเลในบริเวณเกาะผี ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา
สถานภาพแหล่งหญ้าทะเล พ.ศ. 2563
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ทั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลในปัจจุบัน แหล่งที่เคยมีรายงานการสำรวจพบ และแหล่งใหม่นอกเหนือจากที่เคยสำรวจพบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ก็ตาม โดยในปี พ.ศ. 2564 รายงานพบหญ้าทะเลมีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) ครอบคลุม 17 จังหวัดชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย ฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส และฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล
แหล่งหญ้าทะเลโดยภาพรวมของประเทศไทย พบว่าแหล่งหญ้าทะเล มีสถานภาพสมบูรณ์ดี – ดีมาก ร้อยละ 28 สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 52 และมีสถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 20 แหล่งหญ้าทะเลส่วนใหญ่มีขนาดผืนไม่ใหญ่มากนัก โดยสถานภาพของแหล่งหญ้าทะเลรายจังหวัด
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของแหล่งหญ้าทะเลรายปี (รูปบนซ้าย) พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 โดยแบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (รูปบนขวา) สถานภาพหญ้าทะเลในช่วงปี โดยแบ่งระดับเป็น ดี ปานกลาง และเล็กน้อย (รูปกลางซ้าย) ร้อยละการปกคลุมของหญ้าทะเลรายปี ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงการแพร่กระจายของแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทย (รูปขวา)
กราฟแสดงสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 แยกรายจังหวัด โดยแบ่งระดับเป็น ดี-ดีมาก ปานกลาง และเล็กน้อย (รูปบนซ้าย) ร้อยละการปกคลุมของหญ้าทะเลปี พ.ศ. 2564 แยกรายจังหวัด ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงสถานภาพของแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทยปี พ.ศ. 2564 (รูปขวา)
ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งหญ้าทะเล
การศึกษาประชาคมสัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล พบว่า สัตว์น้ำกลุ่มปลาเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายของชนิดสูงที่สุด ส่วนชนิดสัตว์น้ำที่พบสม่ำเสมอและมีชุกชุม ได้แก่ ปลาวัวหางพัด (Monacanthus chinensis) ปลาข้างตะเภาจุด (Pelates quadrilineatus) ปลาสลิดทะเลจุดขาว (Siganus canaliculatus) ปลานกขุนทองสองสี (Halichoeres bicolor) และหอยชักตีน (Strombus canarium) ทั้งนี้สัตว์น้ำที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระยะยังไม่โตเต็มวัย ขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลในแง่ของการเป็นแหล่งอนุบาล และที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และระยะก่อนวัยเจริญพันธุ์
Cr.คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การดําเนินโครงการ
3.1 ดำเนินโครงการ “Goal Together”
นำอาสาสมัครร่วมกับชุมชนลงแรงและเรียนรู้งานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและขยายพื้นที่หญ้าทะเล (ปี 2562 - 2563) กับกิจกรรม “รักษ์เล...รักษ์พะยูน” ในการปลูกหญ้าทะเล พร้อมระดมความคิดร่วมกับชุมชนในการทำแผนข้อมูลแม่แบบ (Master plan) สำหรับเป็นแนวทางพัฒนาชุมชน
จากการดำเนินงานใน 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2563) กับกิจกรรม “รักษ์เล...รักษ์พะยูน” ได้ปลูกหญ้าทะเล จำนวน 3,000 ต้น ในปี 2562 และจำนวน 4,000 ต้น ในปี 2563 ซึ่งปลูกในบริเวณอ่าวสวนสน (เกาะผี) คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 5 ไร่ อีกทั้ง ยังส่งมอบแผนข้อมูลแม่แบบ (Master plan) ให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ สำหรับเป็นแนวทางพัฒนาชุมชนต่อไป โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีอาสาสมัคร Goal Together ชุมชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมทำกิจกรรมกว่า 200 คน
3.2 จัดทำแผนสนับสนุนทุนเพื่อขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลในปี 2564
ในปี 2563 ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตตรัง) ในการเตรียมแผนการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์หญ้าทะเล และแผนเก็บข้อมูลการปลูกหญ้าทะเลบริเวณอ่าวสวนสน (เกาะผี) พร้อมกับทำแผนกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเลแบบมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน โรงเรียน นักท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐ
Q : สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานอนุรักษ์ คืออะไรA : ผมมองว่าความยากของงานอนุรักษ์ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคน ทั้งคนใกล้ตัว ไกลตัวให้เขามีความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันได้ประโยชน์จริงๆ ส่งผลต่อชุมชนและสังคมมากกว่าการตอบสนองประโยชน์ตนเอง ผมมองว่ามันท้าทายคนที่เป็นแกนนำ คนพาทำถ้าทำได้คนชม แต่ถ้าล้มคนสมน้ำหน้า อันนี้จริงๆ บทเรียนการทำงานมีเยอะ แต่น้อยคนที่จะก้าวผ่านแล้วลุกมาทำต่อ ผมเคยเป็นคนล้มเหลว แต่เลือกที่จะเอามาเป็นแรงผลักให้ทำงานได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น งานอนุรักษ์ งานชุมชน งานสังคมเหมือนกัน เราต้องเริ่มจากตัวเรา เชื่อมั่นในตัวเองและแนวทาง “ทำให้ดู เป็นครูให้ได้” ถ้าเราทำสำเร็จอย่างอื่นก็ตามมา คน งบประมาณ และการสนับสนุน
Q : มีวิธีการทำงานร่วมกับชุมชน และคนที่มีแนวคิดต่างจากเราอย่างไรA : ต้องใช้ความจริงใจเข้าว่า เอาใจเขามาใส่ใจเราให้เยอะ เราทำจริงตั้งใจมุ่งมั่น เขาเห็นผลงาน เห็นรูปธรรมความสำเร็จ เขาก็มาช่วยสนับสนุนและเรียนรู้กับเราเอง อย่าคิดว่าคนที่คิดต่างคือคนที่แปลก แต่คือคนที่เราต้องค้นหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เขา “ทำให้เห็น สร้างความสำเร็จผ่านการกระทำ ไม่ใช่คําพูด”
Q : คิดว่าพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลจะสามารถขยายวงกว้างออกไปได้หรือไม่A : เรามีการทำแผน และกำหนดเป้าหมายว่าในแต่ละปีเราจะปลูกหรือขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร หากเราทำได้ตามแผน พื้นที่หญ้าทะเลต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษา เราพยายามดึงหน่วยงาน และเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ เพื่อให้ซึมซับกระบวนการ และพยายามปลูกฝังให้ตระหนักว่ากิจกรรมที่ทำ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างไร ผมเชื่อว่าเรื่องขยายพื้นที่ ถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระที่สำคัญ ผลักดันให้หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรม จะทำให้วาระการอนุรักษ์มันขยายวงกว้าง และส่งผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น
ผลสะท้อนจากอาสาสมัคร "โครงการ Goal Together"
“รู้สึกดีใจที่ยังมีกลุ่มคนที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเล ไม่เคยรู้มาก่อนว่าหญ้าทะเลมีความสำคัญกับระบบนิเวศมากมายขนาดนี้ เราได้รับความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลเยอะมาก ได้รับความรู้จากชุมชน และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกัน”
สุรัญญา หนูนรินทร์
นักวิเทศสัมพันธ์
"การได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาช่วยกันรักษาและหวงแหนไว้"
นิภาภัทร เสือดารา (ฟ้า)
พนักงานบัญชี
“เหมือนเป็นการเพาะต้นกล้าในจิตใจของคนในด้านการอนุรักษ์ ได้รู้ว่าหญ้าทะเล เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่มีความสำคัญมาก และมีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศ กว่าจะได้มาซึ่งหญ้าทะเลแต่ละต้นนั้นไม่ได้ง่ายเลย เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในหนังสือ แต่เป็นการได้สัมผัส ได้ลงมือทำจริงจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์จริงๆ”
ณัฐพงษ์ ชยวัทโฒ (ห่าน)
นักวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงาน