Projects

Close

Organic Agriculture

โครงการสนับสนุนเกษตรกรสู่ Smart Farmer

โครงการสนับสนุนเกษตรกรสู่ Smart Farmer

มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา


มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา สนับสนุนทุนโครงการพัฒนาศักยภาพให้กับ นายณรงค์ กลิ่นถือศีล และนางสาวสาริสา นามสิน (เริ่มปี 2562 )

เป้าหมายโครงการ

เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจทำเกษตรแบบอินทรีย์

ความสำคัญของโครงการ

การพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ทักษะใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากฐานความรู้เดิม เป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะทำให้การบริหารจัดการฟาร์มเป็นไปอย่างชาญฉลาด ส่งผลดีต่อการจัดการด้านเวลา ต้นทุน คุณภาพผลผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า การมีเกษตรกรต้นแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกร หรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการทำเกษตรกรรม มีแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาไปสู่ความเป็น Smart Farmer 

โครงการสนับสนุนเกษตรกรสู่ Smart Farmer

มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา


การดําเนินโครงการ

3.1   นายณรงค์ กลิ่นถือศีล

เกษตรกรที่มีแนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน และมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เกษตรไปสู่พื้นที่การเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีความโดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการฟาร์มขนาดใหญ่ และระบบการเพาะปลูกที่หลากหลาย และได้รับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ดังนี้  

3.1.1   พัฒนาความรู้การผลิตพันธุ์ข้าวอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน (พื้นที่ศึกษาดูงาน : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง หมู่ 17 ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร)

1)   การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์
2)   การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ และการเก็บรักษา
3)   การสร้างระบบรับรองเมล็ดพันธุ์ในรูปแบบกลุ่ม
4)   การขอใบอนุญาต
5)   การควบคุมคุณภาพการผลิตข้าวอินทรีย์

3.1.2   พัฒนาแนวคิดการบริหารจัดการฟาร์ม และระบบตลาด (พื้นที่ศึกษาดูงาน : ฟาร์มม่วนใจ๋ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่)

1)   แนวทางการบริหารจัดการสมาชิกและเครือข่าย
2)   การวางแผนการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาด  
3)   การวางผังฟาร์ม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 

จากการสนับสนุนทุนโครงการพัฒนาศักยภาพ คุณณรงค์ กลิ่นถือศีล ได้นําความรู้มาใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับสนับสนุนเกษตรกรที่มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ และได้นําแนวทางการวางผังฟาร์มมาออกแบบ พัฒนาพื้นที่ฟาร์มของตนเอง โดยขุดบ่อพักน้ำเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในฟาร์มมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ลดระยะเวลาการจัดการ แรงงาน ต้นทุนค่าไฟฟ้า และมีน้ำใช้ในระบบเพาะปลูกตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป 


3.2   นางสาวสาริสา นามสิน

คนรุ่นใหม่ที่หันมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว มีความโดดเด่นในเรื่องแนวคิดและการพัฒนาฟาร์มเกษตรอินทรีย์ มีแนวทางในการปลูกผักสลัดอินทรีย์ เลี้ยงไก่อินทรีย์ การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero waste)  และการหมุนเวียนทรัพยากรภายในฟาร์ม โดยได้รับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ดังนี้  

3.2.1  พัฒนาความรู้การปลูกผักสลัดอินทรีย์ (พื้นที่ศึกษาดูงาน : CLEANFARM   ตําบลหนองหัวโพ อําเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี)

1)   การเตรียมดินเพาะปลูก
2)   การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
3)   การเพาะต้นกล้า
4)   การดูแลรักษา (เพาะปลูก - เก็บเกี่ยว)
5)   การจัดการผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว
6)   การเก็บเมล็ดพันธุ์

จากการสนับสนุนทุนโครงการพัฒนาศักยภาพ  คุณสาริสา นามสิน  ได้นําความรู้มาพัฒนาระบบการปลูกผักสลัดอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถปลูกได้ในทุกช่วงฤดูกาล และยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมฟาร์ม ในขณะเดียวกัน ได้มีการวางแผนงานร่วมกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ในการยกระดับจากเกษตรกรสู่การเป็นวิทยากรอบรมหลักสูตร  “เกษตรอินทรีย์ วิถีเพอร์มาคัลเจอร์”   เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ในปี 2564