Projects

Close

Organic Agriculture

โครงการสนับสนุนผู้ปลูกข้าวสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน

โครงการสนับสนุนผู้ปลูกข้าวสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอําเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง


มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง (เริ่มปี 2563 )

เป้าหมายโครงการ

การดําเนินโครงการมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนความรู้ การยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สู่ระดับสากล และสนับสนุนเครื่องมือเพิ่มศักยภาพในการแปรรูป เพื่อให้เกษตรกรก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ดี และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

หลักเกณฑ์การสนับสนุน

1. กลุ่มเกษตรกรต้องมี “ความต้องการ” ในการขอรับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายของกลุ่ม
2. กลุ่มเกษตรกรต้องเห็น “โอกาส” ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และสามารถต่อยอดการสนับสนุนได้
3. กลุ่มเกษตรกรต้องมี “ศักยภาพ” ในการบริหารจัดการทุนโครงการ อาทิ การบริหารงบประมาณ การบริหารบุคลากร และการขับเคลื่อนโครงการไปสู่เป้าหมาย
4. กลุ่มเกษตรกรต้องได้รับ “การติดตามและประเมินผล” การดำเนินโครงการ เพื่อประเมินผลและวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป
5. กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนโครงการต้องมีเป้าหมายไปสู่ “ความยั่งยืน” หรือ การพึ่งพาตนเองได้

ความสำคัญของโครงการ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง เป็นกลุ่มที่มีเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ปัจจุบันได้ทำเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 5 ปี มีระบบควบคุมภายในกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง และได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย Organic Thailand โดยการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน นับเป็นโมเดลที่สำคัญอันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลต่อการรักษา ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

โครงการสนับสนุนผู้ปลูกข้าวสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอําเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง

การดำเนินโครงการ

2.1   สนับสนุนให้เกิดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (IFOAM)

สร้างความรู้ความเข้าใจ เตรียมความพร้อมการขอรับรองมาตรฐานฯ ให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 53 ราย พื้นที่ผลิตรวมทั้งสิ้น 346.10 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ดังนี้

1) ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
2) ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
3) ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
4) ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
5) ตำบลแม่สัน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลําปาง
6) ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมืองลําปาง จังหวัดลําปาง
7) ตำบลชมพู อำเภอเมืองลําปาง จังหวัดลําปาง
8) ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
9) ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลําปาง

2.2   สนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเกษตรอินทรีย์

ผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่าง บริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร เพื่อตกลงซื้อขายข้าวเปลือกอินทรีย์ ในรูปแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยในปี 2562 - 2563 มีการซื้อขายข้าวเปลือกอินทรีย์พันธุ์หอมมะลิ 105 หอมมะลิแดง และมะลินิลสุรินทร์ จำนวนทั้งสิ้น 65   ตัน 

2.3  จัดทำแผนสนับสนุนทุนเพื่อยกระดับสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ปี 2564

ในปี 2563 ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ความพร้อมและศักยภาพการแปรรูปข้าวอินทรีย์และผงผิวข้าวสีเข้ม เพื่อเตรียมแผนสนับสนุนการยกระดับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนในปี 2564 


แบ่งปันประสบการณ์




Q : จุดเริ่มต้นในการทำเกษตรอินทรีย์

A : อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ศักดิ์สิทธิ์ การทำนาเป็นสิ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำต่อ ผมเกษียณอายุราชการมา ตั้งใจทำนาอินทรีย์ปลูกข้าวให้ชาวบ้านดูว่าการไม่ใช้สารเคมี สามารถได้ผลผลิตที่สร้างกำไรได้เหมือนกัน ที่สำคัญในปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพมักเกิดจากโรคภัยที่มาเบียดเบียนเรา จึงสนใจหันกลับมาทำอินทรีย์ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อสุขภาพตัวเองและคนใกล้ตัว สร้างความสุขจากการได้กินข้าวที่ปลอดภัยไร้สารเคมี

Q : แนวคิดขายข้าวเป็นกรัม..เราทำได้ หมายความว่าอย่างไร

A : แนวคิดนี้ เริ่มต้นจากที่เราได้เจอพันธมิตรที่ดี นำความรู้ที่เขามีมาเสริมให้กลุ่ม จนเกิดไอเดีย เห็นช่องทางและลงมือทำ เราเริ่มได้เรียนรู้ ทดลอง จนกลายมาเป็น “ผงผิวข้าวสีเข้ม ที่มีสารแอนโทไซยานิน” เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มที่นอกเหนือจากการขายข้าวเปลือกหรือข้าวสาร และเราก็ยังสามารถผลิตผงผิวข้าวขายได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม

Q : ปัจจุบันมีเป้าหมายและแผนการดําเนินงานอย่างไร

A : แผนที่เราวางไว้คือ การยกระดับพัฒนาศักยภาพของกลุ่มให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อเป็นโอกาสในการเปิดตลาดที่หลากหลาย เราได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดทั้งในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ องค์ความรู้ ตลอดจนการสนับสนุนในการขอรับรองมาตรฐานไอฟอม (IFOAM) จากมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ซึ่งเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากลที่สูงกว่าที่กลุ่มมี ณ ปัจจุบัน ถ้าหากผ่านการรับรอง เราก็คาดว่าจะมีช่องทางและการตลาดที่ดีขึ้น ที่สำคัญเราคาดหวังว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน และเป็นผู้ผลิตข้าวที่มีคุณภาพของจังหวัดลําปาง

Q : ฝากข้อความถึงมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา

A : ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มข้าวทิพย์ช้างฯ และได้มาส่งเสริม สนับสนุนทำให้โครงการรุดหน้า และมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น แนวทางในการทำงานของมูลนิธิฯ ทำให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้ สร้างรายได้ เกิดการทำงานเป็นทีมและเป็นระบบ ขอให้ท่านดำเนินงานดีๆ แบบนี้สู่สังคมต่อไป ขอบคุณครับ