โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
การอนุรักษ์สัตว์ป่าเพียงตัวเดียวหรือหลายตัว ไม่ใช่เรื่องที่เราแค่ดูแลสัตว์ป่าตัวหนึ่งเพียงลำพังเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลสิ่งที่อยู่รอบตัวสัตว์ป่าด้วย อย่างเช่นการอนุรักษ์วัวแดงตัวหนึ่งที่เราต้องดูแลไปจนถึงบ้านของสัตว์ป่า พื้นที่ป่ารอบ ๆ อาหาร เพราะเมื่อไม่มีป่า ไม่มีอาหาร วัวแดงก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่และขยายพันธุ์ได้
เนื่องจาก “วัวแดง” เป็นสัตว์ที่มีรายชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ดังนั้น การอนุรักษ์วัวแดงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ป่า ผืนป่า และชุมชนที่ต้องมีแนวร่วมที่จะมุ่งมั่นฟื้นคืนประชากรวัวแดงด้วยการงดเว้นการล่าสัตว์และปล่อยให้วัวแดงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ
เพราะเมื่อวัวแดงอยู่รอด ผืนป่าก็อยู่รอดสมบูรณ์ และแนวร่วมชุมชนรอบพื้นที่ป่าก็อยู่รอดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
และด้วยเหตุนี้เอง "มูลนิธิสุทธิรัตน์ วิทยา" ได้จัดทำโครงการ Goal Together ซึ่งเป็นการสนับสนุนและพัฒนาชุมชนด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน "โครงการอนุรักษ์วัวแดง ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี" ที่ไม่ได้ดำเนินการเพียงลำพัง แต่เราทำงานร่วมกับภาคี ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนอาสาสมัครทั่วไปในสังคม
โดยมูลนิธิฯ มุ่งหวังส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่าสู่ชนรุ่นหลัง รวมถึงการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครให้เกิดการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการทำงานอนุรักษ์ เพราะเราเชื่อว่า "ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องควบคู่ไปกับความอยู่ดีกินดีของผู้คนและชุมชน ”
- เป้าหมายการดำเนินโครงการ
ขยายจำนวนวัวแดงจากป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เชื่อมต่อ ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
- วิธีการดำเนินการ
- ด้านชุมชน สนับสนุนงานเจ้าหน้าที่ และชุมชนในการเพาะพันธุ์วัวแดง ปรับสภาพวัวแดง ติดตามพฤติกรรม เฝ้าระวังการตัดไม้ - ล่าสัตว์ เสริมแหล่งอาหารสัตว์ ให้ความรู้กับชุมชน นักท่องเที่ยว ศึกษาดูงาน และดำเนินกิจกรรมในชุมชน และเครือข่าย
- ด้านอาสาสมัคร นำอาสาสมัครเรียนรู้ และสนับสนุนงานชุมชน
- กิจกรรมเด่น
การปล่อยวัวแดงสู่ป่าธรรมชาติ
- ระยะเวลาของโครงการ 3 - 5 ปี
- แผนการดำเนินงานของโครงการ
โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
การดําเนินงานโครงการในปี 2564 การดำเนินโครงการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานโครงการ จึงสามารถดำเนินงานได้ในบางกิจกรรม คือ การสนับสนุนทุนโครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง โดยมอบเงินสนับสนุน จำนวน 1,500,000 บาท ในการดำเนินงานกิจกรรม ดังนี้
1.1 ดำเนินงานวิจัยเพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันของวัวแดง) ภายใต้โครงการผลิตตัวอ่อนวัวแดงในห้องปฏิบัติการ โดยได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) เพื่อการศึกษา วิจัย ควบคู่กับการติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยในปี 2564 ได้เก็บตัวอย่างน้ำเชื้อวัวแดงตัวผู้ที่ตายแล้ว นำไปเก็บในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และทำการผสมกับวัวบ้านเพื่อทดสอบความแข็งแรงของน้ำเชื้อและเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อไป โดยในปี 2565 ได้วางแผนเก็บน้ำเชื้อ และเนื้อเยื่อของวัวแดงที่เตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งที่ 5 เพื่อเข้าสู่กระบวนการวิจัยในห้องปฏิบัติการระยะต่อไป
1.2 ดำเนินการติดตั้งกล้อง Camera Trap เพื่อศึกษาพฤติกรรมของวัวแดง ในพื้นที่ป่าสลักพระ โดยในปี 2564 ได้สนับสนุนกล้อง Camera Trap จำนวน 20 ตัว รวมที่ติดตั้งไปแล้วทั้งหมด 30 ตัว (2563-2564) และมีแผนการติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่แนวเขตอนุรักษ์ จำนวน 150 ตัวในปี 2566 ข้อมูลจากกล้อง Camera Trap และจากเครื่อง GPS ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า การปล่อยวัวแดง 4 ครั้ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 13 ตัว พบลูกวัวแดงที่เกิดตามธรรมชาติ จำนวนอีกกว่า 18 ตัว รวมวัวแดงที่มีในเขตพื้นที่ป่าสลักพระทั้งสิ้น จำนวนกว่า 31 ตัว ภาพจากกล้อง Camera Trap ยังทำให้เห็นพฤติกรรมการหาอาหาร แหล่งอาหาร และความแข็งแรงของวัวแดง นอกจากนี้ ยังได้เห็นภาพฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น กวาง เสือโคร่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และได้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารและโภชนาการที่ส่งผลต่อสุขภาพวัวแดงต่อไป
1.3 สร้าง และปรับปรุงคอกวัวแดงให้มีความคงทนเพื่อป้องกันการทำลายของช้างป่า โดยได้ปรับปรุงคอกวัวแดง จำนวน 2 คอก คือ (1) คอกสำหรับปรับพฤติกรรมวัวแดงก่อนการปล่อยคืนธรรมชาติ (สำหรับปล่อยวัวแดง ครั้งที่ 5 ในปี 2565) ซึ่งเป็นคอกที่มีผ้าสแลนปิดทึบบริเวณรอบพื้นที่คอก เพื่อให้วัวแดงเกิดการคุ้นชินเพราะในกระบวนการขนย้าย วัวแดงต้องอยู่ในกล่องที่มีความทึบ คอกนี้จึงต้องจำลองสภาพคอกให้เหมือนกล่องขนย้ายมากที่สุด และติดตั้งกล้องเพื่อศึกษาพฤติกรรมวัวแดง และ (2) คอกในพื้นที่เตรียมปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่า โดยได้ดำเนินการสร้างคอกไว้เพื่อปรับสภาพและพฤติกรรมวัวแดงให้มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติในป่าก่อนปล่อยจริง โดยในปี 2565 ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ มีแผนการปล่อยวัวแดงสู่ป่า ครั้งที่ 5 จำนวน 3 ตัว คือ วัวแดงเพศผู้ 2 ตัว (คุ้มครอง วันสุข) และเพศเมียที่กำลังตั้งท้อง 1 ตัว (น้ำฝน)
1.4 ดำเนินโครงการวิจัยวัวแดงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ร่วมกับคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บมูลของวัวแดงที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสลักพระ นำไปวิจัยในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) เพื่อตรวจสอบโภชนาการอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพและพฤติกรรมการกินอาหารของวัวแดง รวมถึงนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่แผนการเพิ่มแหล่งอาหารที่เพียงพอ และมีโภชนาการเหมาะสม
ผลจากการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ทำให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ได้ทราบถึงพฤติกรรมการกินอาหาร และสุขภาพวัวแดง และสัตว์ป่าอื่นๆ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จึงได้นำข้อมูลมาพัฒนากิจกรรม ภายใต้โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง เช่น การปลูกมะม่วงป่า การทำโป่งเทียม เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มีทั้งสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์ป่าให้ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ ซึ่งในปี 2565 มีการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อวิเคราะห์เก็บข้อมูล และพัฒนากิจกรรม ที่ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์วัวแดง และสร้างความอุดมสมบูรณ์ในนิเวศป่าสลักพระต่อไป
คลิก : เกร็ดความรู้ “ โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง ”
จากกิจกรรมคืนวัวแดงสู่ผืนป่า เรียนรู้คุณค่าความสมดุล ของโครงการ Goal Together รุ่น 1 ถือว่าเป้าหมายแรกสำเร็จได้ด้วยดี เป้าหมายต่อไปคอยเฝ้าติดตามและรอวันที่น้องวัวแดงได้กลับคืนสู่ผืนป่าอีกครั้งหลายคนได้พบคำตอบความหมายของคำว่า "อาสา" ในใจของตนเองหรือได้ปลุกสิ่งนี้ขึ้นมาในใจอีกครั้ง และได้แบ่งปันสู่สิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือ ธรรมชาติ
กิจกรรมที่ได้ทำ สิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงแค่ตนเอง แต่เราได้เผื่อไปถึงคนในอนาคต ให้เกิดความยั่งยืน
ขอขอบคุณ อาสาสมัคร Goal Together รุ่น1 เจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ มวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง เยาวชน และโรงเรียนอนุบาลศรีสวัสดิ์ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมั่นและไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมในครั้งนี้แล้วพบกันใน Goal Together รุ่น 2 เร็วๆ นี้