โครงการปลูกหญ้าทะเล
ณ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลปี 2563
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (เริ่มปี 2562)
เป้าหมายโครงการ
“ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และขยายพื้นที่หญ้าทะเล จำนวน 50 ไร่” โดยดำเนินงานด้านการวิจัยการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล พร้อมดำเนินกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน สถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดแนวเขตพื้นที่ดำเนินการ
ความสําคัญของโครงการ
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ได้สร้างทั้งคุณและโทษต่อสิ่งแวดล้อม หากการใช้ทรัพยากรขาดการทำทดแทนดูแลรักษา จะส่งผลกระทบต่อนิเวศทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเพิ่มพื้นที่หญ้าทะเลจึงเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในการสร้างความหลากหลายและคืนความสมบูรณ์ให้กับนิเวศทางทะเล อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกิจกรรมเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล อันจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โครงการปลูกหญ้าทะเล
ณ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง
ปลูกบ้านให้สัตว์ทะเลกลับมา
การดําเนินโครงการ
การดำเนินงานโครงการในปี 2564 มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา มอบเงินสนับสนุนจำนวน 350,000 บาท เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล โดยดำเนินงานโครงการ คือ
3.1 การเพาะและขยายพันธุ์หญ้าทะเล
วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ได้ดำเนินการเพาะและขยายพันธุ์หญ้าทะเล และร่วมกับชุมชนในพื้นที่หน่วยงานสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง จัดกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเล จำนวน 8,000 ต้น (ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 ต้น และครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 ต้น) บริเวณอ่าวบุญคง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
และได้เก็บเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลอีกประมาณ 7,000 เมล็ด เพื่อมาทดแทนหญ้าทะเลที่ นำไปปลูกแล้ว อีกทั้ง ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในการปลูกหญ้าทะเล จำนวน 3 ไร่ ในพื้นที่เกาะผี บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและวิจัยหญ้าทะเล โดยในปี 2564 มีการปลูกหญ้าทะเลไปแล้วรวม 5 ไร่ และมีแผนการปลูกหญ้าทะเลเพิ่มอีกจำนวน 10 ไร่ ในปี 2565 ต่อไป
การดําเนินโครงการ
3.1 ดำเนินโครงการ “Goal Together”
นำอาสาสมัครร่วมกับชุมชนลงแรงและเรียนรู้งานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและขยายพื้นที่หญ้าทะเล (ปี 2562 - 2563) กับกิจกรรม “รักษ์เล...รักษ์พะยูน” ในการปลูกหญ้าทะเล พร้อมระดมความคิดร่วมกับชุมชนในการทำแผนข้อมูลแม่แบบ (Master plan) สำหรับเป็นแนวทางพัฒนาชุมชน
จากการดำเนินงานใน 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2563) กับกิจกรรม “รักษ์เล...รักษ์พะยูน” ได้ปลูกหญ้าทะเล จำนวน 3,000 ต้น ในปี 2562 และจำนวน 4,000 ต้น ในปี 2563 ซึ่งปลูกในบริเวณอ่าวสวนสน (เกาะผี) คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 5 ไร่ อีกทั้ง ยังส่งมอบแผนข้อมูลแม่แบบ (Master plan) ให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ สำหรับเป็นแนวทางพัฒนาชุมชนต่อไป โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีอาสาสมัคร Goal Together ชุมชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมทำกิจกรรมกว่า 200 คน
3.2 จัดทำแผนสนับสนุนทุนเพื่อขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลในปี 2564
ในปี 2563 ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตตรัง) ในการเตรียมแผนการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์หญ้าทะเล และแผนเก็บข้อมูลการปลูกหญ้าทะเลบริเวณอ่าวสวนสน (เกาะผี) พร้อมกับทำแผนกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเลแบบมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน โรงเรียน นักท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐ
Q : สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานอนุรักษ์ คืออะไรA : ผมมองว่าความยากของงานอนุรักษ์ คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคน ทั้งคนใกล้ตัว ไกลตัวให้เขามีความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันได้ประโยชน์จริงๆ ส่งผลต่อชุมชนและสังคมมากกว่าการตอบสนองประโยชน์ตนเอง ผมมองว่ามันท้าทายคนที่เป็นแกนนำ คนพาทำถ้าทำได้คนชม แต่ถ้าล้มคนสมน้ำหน้า อันนี้จริงๆ บทเรียนการทำงานมีเยอะ แต่น้อยคนที่จะก้าวผ่านแล้วลุกมาทำต่อ ผมเคยเป็นคนล้มเหลว แต่เลือกที่จะเอามาเป็นแรงผลักให้ทำงานได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น งานอนุรักษ์ งานชุมชน งานสังคมเหมือนกัน เราต้องเริ่มจากตัวเรา เชื่อมั่นในตัวเองและแนวทาง “ทำให้ดู เป็นครูให้ได้” ถ้าเราทำสำเร็จอย่างอื่นก็ตามมา คน งบประมาณ และการสนับสนุน
Q : มีวิธีการทำงานร่วมกับชุมชน และคนที่มีแนวคิดต่างจากเราอย่างไรA : ต้องใช้ความจริงใจเข้าว่า เอาใจเขามาใส่ใจเราให้เยอะ เราทำจริงตั้งใจมุ่งมั่น เขาเห็นผลงาน เห็นรูปธรรมความสำเร็จ เขาก็มาช่วยสนับสนุนและเรียนรู้กับเราเอง อย่าคิดว่าคนที่คิดต่างคือคนที่แปลก แต่คือคนที่เราต้องค้นหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เขา “ทำให้เห็น สร้างความสำเร็จผ่านการกระทำ ไม่ใช่คําพูด”
Q : คิดว่าพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลจะสามารถขยายวงกว้างออกไปได้หรือไม่A : เรามีการทำแผน และกำหนดเป้าหมายว่าในแต่ละปีเราจะปลูกหรือขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร หากเราทำได้ตามแผน พื้นที่หญ้าทะเลต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษา เราพยายามดึงหน่วยงาน และเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ เพื่อให้ซึมซับกระบวนการ และพยายามปลูกฝังให้ตระหนักว่ากิจกรรมที่ทำ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างไร ผมเชื่อว่าเรื่องขยายพื้นที่ ถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระที่สำคัญ ผลักดันให้หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรม จะทำให้วาระการอนุรักษ์มันขยายวงกว้าง และส่งผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น
ผลสะท้อนจากอาสาสมัคร "โครงการ Goal Together"
“รู้สึกดีใจที่ยังมีกลุ่มคนที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเล ไม่เคยรู้มาก่อนว่าหญ้าทะเลมีความสำคัญกับระบบนิเวศมากมายขนาดนี้ เราได้รับความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลเยอะมาก ได้รับความรู้จากชุมชน และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกัน”
สุรัญญา หนูนรินทร์
นักวิเทศสัมพันธ์
"การได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาช่วยกันรักษาและหวงแหนไว้"
นิภาภัทร เสือดารา (ฟ้า)
พนักงานบัญชี
“เหมือนเป็นการเพาะต้นกล้าในจิตใจของคนในด้านการอนุรักษ์ ได้รู้ว่าหญ้าทะเล เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่มีความสำคัญมาก และมีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศ กว่าจะได้มาซึ่งหญ้าทะเลแต่ละต้นนั้นไม่ได้ง่ายเลย เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในหนังสือ แต่เป็นการได้สัมผัส ได้ลงมือทำจริงจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์จริงๆ”
ณัฐพงษ์ ชยวัทโฒ (ห่าน)
นักวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงาน