โครงการ

Close

การศึกษา

โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

ณ โรงเรียนวัดเขายี่สาร และโรงเรียนเครือข่าย ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร


เป้าหมายโครงการ
เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาที่เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เป็นต้นแบบทางด้านการจัดการเรียนการสอน ให้สามารถช่วยยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสความเท่าเทียมทางการศึกษา

ความสําคัญของโครงการ

ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ประสบปัญหาด้านคุณภาพทางการศึกษา ที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้ประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะส่งผลดีกับคุณภาพการศึกษา และเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนที่ยังขาดโอกาส สามารถพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม

โครงการด้านการศึกษา จํานวน 3 โครงการประกอบด้วย
1. โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนวัดเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
2. โครงการมอบทุนการศึกษาเพื่อการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน
3. โครงการพุทธจิต “มอบความรู้สู่เด็กด้อยโอกาส” มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน

โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

ณ โรงเรียนวัดเขายี่สาร และโรงเรียนเครือข่าย ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร


การดําเนินโครงการ

โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ปี 2563
ดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนวัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มปี 2561 โดยในปี 2563 ได้มีการประเมินผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ประเมินศักยภาพของโรงเรียนและบุคลากร พร้อมระดมความคิดเพื่อวางแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดประสิทธิผลและความต่อเนื่อง ที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป ซึ่งมีการกำหนดแผนการดำเนินงานในปี 2564 ดังนี้

1.1 พัฒนาระบบงานด้านวิชาการ :
1) สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในการพัฒนาบุคลากร รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของโรงเรียนในปัจจุบัน
2) สนับสนุนบุคลากรทางการศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขาดแคลน
3) สนับสนุนอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
4) สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จนถึงระดับปริญญาตรี

1.2 สนับสนุนกิจกรรมที่พัฒนาทักษะอาชีพตามบริบทในท้องถิ่น :

กิจกรรมปลูกพืชอินทรีย์เพื่อบริโภคภายในโรงเรียนและเสริมความรู้ทางด้านการเพาะปลูกในรูปแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture)



Q : มีแนวทางการเรียนการสอนอย่างไร ให้มีผลการสอบ O-net มากกว่าคะแนนระดับประเทศ

A : เรามีวิชาการเสริมทักษะการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ที่เราให้ความสำคัญมาก คือ การสร้างวินัย มีความรับผิดชอบ เรียนคือเรียน เมื่ออยู่ในห้องเรียนต้องตั้งใจ และหากิจกรรมเสริมทักษะมาให้เขาได้เรียนรู้ ทำให้การเรียนนั้นไม่น่าเบื่อ และก่อนสอบคุณครูทุกคนจะช่วยกันติวเข้มให้นักเรียน โดยการนำเอาแนวทางข้อสอบเดิมมาทดลองให้ทำ ให้ได้ฝึกฝน ให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้ เมื่อไปทำข้อสอบจริงจะเกิดทักษะ และสามารถทำได้

Q : แนวทางในการพัฒนาเด็กนักเรียน ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดใหญ่แตกต่างกันอย่างไร

A : 1) ครูผู้สอนมีจำกัด 2) เทคโนโลยีในการเรียนการสอน 3) งบประมาณ 4) การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียน ตรงนั้นมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการได้ตามกำลัง และบุคลากรที่เรามี ครูมีน้อยก็ต้องมีทักษะรอบตัว เทคโนโลยีไม่ทันสมัยเราก็ประยุกต์การเรียนการสอน โดยใช้สื่อสร้างการเรียนรู้ในแบบที่เรามี ดังนั้น หากมีข้อจำกัด เราต้องบริหารจัดการให้เป็น

Q : มีมุมมองอย่างไรกับเด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนขนาดเล็ก และจะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

A : ในฐานะครู เราก็พยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ไปได้ไกลที่สุด การประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทุนมาสนับสนุน ถือเป็นหน้าที่ครูอีกทางหนึ่งที่จะส่งลูกศิษย์ให้ไปถึงฝันได้ นอกจากนี้โรงเรียนเองก็สามารถช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะวิชาชีพนอกจากการเรียนในห้องเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้นักเรียนอีกทาง

Q : พูดถึงโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขายี่สาร

A : ก่อนอื่นขอขอบคุณผู้บริหารมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่เล็งเห็นความสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็ก โครงการนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กับโรงเรียนในด้านบุคลากร ด้านอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการเรียนการสอน ที่สามารถทำให้เด็กได้เข้าถึงสื่อให้ความรู้ต่างๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ หากการดำเนินโครงการเป็นไปด้วยดี จะช่วยพัฒนาความรู้ให้เด็กและครูไปพร้อมๆ กันได้ ในโครงการนี้เราได้ที่ปรึกษาจากภาควิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มาร่วมในครั้งนี้ด้วย ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้โอกาสโรงเรียนของเรา