Press Releases
การเดินทางไปด้วยกันของ ‘วัวแดง และมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’
การเดินทางไปด้วยกันของ ‘วัวแดง และมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’
เพราะเรารู้ว่าการมีอยู่ของ ‘วัวแดง’ สำคัญ สิ่งใดที่ ‘มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’ ทำได้ เราขอลงแรงทำ และนั่นทำให้เกิด ‘โครงการรอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง’ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2557
เป้าหมายหลักของการเดินทางอนุรักษ์วัวแดง คือการขยายพันธุ์วัวแดงให้มากขึ้น โดยมูลนิธิฯ ร่วมมือกันกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ และชุมชนรอบๆ ป่า ช่วยกันเชื่อมร้อยเส้นทางให้เจ้าวัวเดินทางจากป่าสลักพระไปสู่ป่าห้วยขาแข้งให้ได้ และหากทำได้จริง เราจะเห็นประชากรวัวแดงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
‘การอนุรักษ์วัวแดง’ คือจุดเริ่มต้น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2565 ได้มีการปล่อยวัวแดงเข้าป่าสลักพระไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง รวมจำนวน 16 ตัว
ซึ่งการปล่อยวัวแดงเข้าป่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์เท่านั้น เพราะเรายังต้องการติดตามวัวแดงต่อว่าเมื่อเจ้าวัวย้ายที่อยู่อาศัยไปในป่าจริงๆ แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร อาหารการกินเพียงพอไหม เจอฝูงเพื่อนวัวแดงหรือเปล่า ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดตั้ง กล้องติดตาม Camera Trap สังเกตพฤติกรรมของวัวแดงและสัตว์ป่าอื่นๆ ดูว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือมีการเลือกเส้นทางเดินไปในทิศไหน เพื่อจะได้วางแผนงานอนุรักษ์เชื่อมรอยต่อเส้นทางวัวแดงในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันมีกล้องติดตามจำนวน 30 ตัวแล้ว โดยติดตามต้นไม้ในเส้นทางที่คาดว่าสัตว์จะเดินผ่าน เช่น ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้แหล่งอาหาร เช่น โป่ง และภาพจากกล้องทำให้เราเห็นว่า ยังพบวัวชุดแรกอาศัยอยู่ วัวแดงเริ่มอยู่รวมกันเป็นฝูง และมีลูกน้อยเกิดขึ้นในป่าอย่างน้อย 22 ตัวแล้ว!
นอกจากกล้องติดตามจะฉายภาพวัวแดงที่เดินผ่านไปมา ยังมีสัตว์อื่นมาร่วมเฟรมด้วย ทั้งนกยูง ช้างป่า หรือกระทั่งเสือโคร่งที่เคยหายสาบสูญไปจากป่าสลักพระ! กลายเป็นระบบนิเวศของป่าที่เริ่มสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีสัตว์มากหน้าหลายตาเริ่มเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ และที่สัตว์หลายชนิดได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่ป่าสลักพระ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าป่าแห่งนี้กลายเป็นป่าที่ปลอดภัยไร้ผู้ล่าอย่างมนุษย์อย่างแท้จริง
โดยหนึ่งในงบสนับสนุนของมูลนิธิฯ ที่มอบให้กับศูนย์อนุรักษ์ฯ ได้ถูกนำไปทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนรอบๆ ป่า ว่าต่อจากนี้จะมีการปล่อยวัวแดงกลับเข้าป่า ให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาและบอกต่อกันด้วย ถ้าเจอน้องวัวย่างกรายไปที่ไหนไม่ต้องตกใจ ผู้คนรีบแจ้งมาที่ศูนย์ฯ ได้เลยเดี๋ยวจัดการให้ จากเมสเซจนี้ทำให้เกิดเป็น ‘มวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง’ ที่อยู่รอบป่า มาช่วยกันอนุรักษ์วัวแดงอย่างเข้าใจ
อีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญของเส้นทางอนุรักษ์นี้ คือเหล่าอาสาใน กิจกรรม Goal Together กิจกรรมที่มีมวลชนอาสา กว่า 2,000 คน ที่มาช่วยกันลงใจลงแรง ในทุกกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ได้จัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกิจกรรมอนุรักษ์วัวแดงรวมอยู่ด้วย
กิจกรรม Goal Together รุ่น 1 ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการช่วยกันสร้างคอกให้วัวแดงในศูนย์อนุรักษ์ฯ ใน ‘โครงการคืนวัวแดงสู่ผืนป่า เรียนรู้คุณค่าความสมดุล’ เพื่อให้วัวแดงได้มีพื้นที่เตรียมตัวก่อนให้พร้อมปล่อยเข้าป่า ต่อมา รุ่น 2 ในปี พ.ศ. 2563 ได้ร่วมกันปลูกพืชอาหารสัตว์ป่าใน ‘โครงการปลูกพืชอาหารช้าง สร้างอาหารให้สัตว์ป่า’ ช่วยกันปลูกมะม่วงป่าสำหรับเป็นอาหารช้างจำนวน 2,500 ต้น และเพาะพันธุ์ต้นมะม่วงป่า จำนวน 10,000 ต้น ให้เพียงพอสำหรับปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่าต่อไป
‘การขยายพันธุ์วัวแดง’ อีกหนึ่งความหวังของการอนุรักษ์
ยังย้ำกันเสมอว่าเมื่อปล่อยวัวแดงเข้าป่าเรียบร้อยแล้ว ใช่ว่าภารกิจนี้จะจบสิ้น ยังมีงานเบื้องหลังที่คอยสนับสนุนการอนุรักษ์ไปให้สุดทางรออยู่
ด้วยความหวังที่ว่า วัวแดงที่ปล่อยเข้าป่าจะแข็งแรงและกลายเป็นวัวอาศัยในป่าอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 ทางมูลนิธิฯ เลยจับมือหน่วยงานภาคีวิชาการ ‘U Volunteer’ ที่มีคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของวัวแดงและสัตว์ป่าอื่นๆ ในป่า ตรวจสุขภาพและตรวจ DNA ของวัวแดง เพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์วัวแดงก็จะมีเพิ่มมากขึ้น และลดปัญหาเลือดชิดที่อาจจะเกิดขึ้นถ้า DNA ของวัวแดงมีความใกล้เคียงกัน
อีกหนึ่งงานวิจัยที่กำลังดำเนินการในห้องแล็บคือ การผลิตตัวอ่อนวัวแดง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการขยายพันธุ์วัวแดงให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ถึงปัจจุบันยังนักวิจัยยังดำเนินการอย่างแข็งขันในห้องปฏิบัติการ เราก็ได้ทราบเบื้องต้นว่าสามารถผลิตตัวอ่อนได้ด้วยวิธี Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) ซึ่งเบื้องต้นสามารถผลิตตัวอ่อนลูกผสมวัวแดงกับวัวบ้านได้เซลล์ที่แข็งแรงดี ต่อจากนี้จะทำการแช่แข็งเพื่อนำไปสู่การทดลองกระบวนการต่อไป
บทบาทของมูลนิธิฯ กับวัวแดง เหมือนเพื่อนที่อยู่ข้างๆ คอยซัพพอร์ตกันและกันเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ให้ดีที่สุด เส้นทางของวัวแดงที่เริ่มออกเดินทางยังเป็นสิ่งที่คนไกลป่าอย่างเราต้องจับตามอง และคอยให้กำลังใจอยู่ไกลๆ ให้เจ้าวัวทั้งหลายเดินทางข้ามไปห้วยขาแข้งและขยายพันธุ์เป็นฝูงใหญ่ เชื่อมระบบนิเวศของป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง